มีจดหมายฉบับหนึ่งจากคนที่ไม่รู้จักจู่ๆก็ถูกส่งมาที่บริษัทของญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพรักแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เนื้อความในจดหมายระบุว่าเขาสืบทราบมาว่าญาติของเราท่านนี้เป็นคนที่ชื่นชอบสะสมงานศิลปะ จึงอยากจะเสนอขายภาพวาดที่เขาได้รับตกทอดมาเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ ผลงานของศิลปินที่เขาบอกว่ามีครอบครองอยู่ อาทิเช่นเฟื้อ หริพิทักษ์, ทวี นันทขว้าง และ สุเชาว์ ศิษย์เคณษ เห็นแต่ละชื่อแล้วตื่นเต้นมีแต่รุ่นใหญ่เบญจภาคีทั้งนั้น ญาติของเราเลยรีบส่งข้อมูลมาให้เราช่วยนัดไปดูให้หน่อยว่างานพวกนี้น่าสนใจมากน้อยเพียงใด
วันถัดมาเราเลยกุลีกุจอกดโทรศัพท์โทรไปนัดตามเบอร์ที่ให้ไว้ในจดหมาย เสียงปลายสายเป็นผู้ชายอายุน่าจะราว 40 กว่าๆ เขาไม่ให้รายละเอียดกับเรามากนัก แค่นัดให้ไปดูของที่บ้านของเขาแถวภูเขาทอง เย็นวันนั้นเราเลยตัดสินใจเข้าไปกับภรรยาและเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะอีกคนหนึ่ง ที่ยกโขยงกันไปหลายๆคนเพราะจะได้ช่วยกันดูหลายๆตา และให้ช่วยกันออกความเห็น เรานัดเจอกันที่หน้าร้านผัดไทยเจ้าดังในละแวกนั้น เมื่อถึงเวลานัดเราก็เจอกับพี่ผู้ชายที่นัดกันไว้ทางโทรศัพท์ พี่เขาตัวผอม ผิวคล้ำ ไว้ผมหยิกยาว ใส่เสื้อยืดย้วยๆ กางเกงขายาวแบบมีกระเป๋าเยอะๆ ดูเหมือนนักร้องแนวเพื่อชีวิตหรือไม่ก็นักวาดรูปมากกว่านักขายงานศิลปะ เมื่อทักทายกันเสร็จพี่เขาก็พาพวกเราเดินเข้าซอยด้านหลังภูเขาทองซึ่งเป็นชุมชนแออัด เดินลัดเลาะซ้ายขวาเข้าตรอกเล็กตรอกน้อยข้ามคูคลองวนไปวนมาจนถึงบ้านของเขาซึ่งเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นหลังเล็กๆ
เมื่อเปิดประตูเข้าไปเราก็พบกับของกินของใช้กองสุมกันเป็นพะเนินเทินทึกตามมุมนู้นมุมนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งใต้โต๊ะใต้เตียงดูรกไปหมด แน่นจนในบ้านแทบจะไม่มีที่ให้นั่งพวกเราก็เลยยืนกันอยู่กันอย่างนั้น ตอนนั้นก็ยังนึกในใจอยู่นิดๆว่างานศิลปะระดับสมบัติชาติไฉนมาหมกอยู่ในนี้ แล้วพี่เจ้าของบ้านก็เริ่มเล่าความเป็นมาว่าพ่อของเขาเป็นคนมีนามสกุลดัง มีโอกาสคบหากับศิลปินรุ่นใหญ่ในอดีต เลยได้ผลงานศิลปะจากศิลปินเหล่านี้โดยตรงจากมือมาสะสมไว้หลายชิ้น พอพ่อของพี่เขาล้มหายตายจากไปภาพเขียนเหล่านั้นก็เลยตกมาอยู่ในความครอบครองของเขา แต่เขาเองก็ไม่ใช่นักสะสมหากมีใครสนใจก็ยินดีขาย เพื่อพิสูจน์ว่าพ่อเขารู้จักศิลปินจริงๆไม่ได้โม้ พี่เขาก็เลยโชว์สูจิบัตรงานแสดงศิลปะรุ่นเก่าๆสองสามเล่ม พร้อมลายมือที่พี่เขาบอกว่าเป็นของศิลปินเขียนลงบนสูจิบัตรระบุว่าขอมอบสูจิบัตรนี้ให้พ่อของเขา พร้อมลายเซ็นของศิลปินเซ็นกำกับ

ไล่เรียงมาจนถึงจุดไคลแม็กซ์ของธุระในวันนี้ พี่เขาเริ่มยกผลงานศิลปะจากมุมต่างๆของบ้านมาให้เราดู ภาพแรกเริ่มจากงาน ทวี นันทขว้าง ภาพดอกบัวสีม่วงๆผลิดอกอยู่ท่ามกลางกอต้นอ้อ ภาพนี้เป็นภาพสีอคริลิคบนผ้าใบแนวนอนขนาดยาวประมาณ 1 เมตรสูงซักครึ่งเมตร มีลายเซ็นเขียนว่า ทวี นันทขว้าง เป็นภาษาอังกฤษ ถัดมาเป็นผลงานของ สุเชาว์ ศิษย์เคณษ เป็นภาพเด็กหน้าตาหลอนๆยืนอยู่กลางหมู่บ้าน ใช้สีน้ำมันหนาๆแต้มเป็นปื้นๆเขียนบนผ้าใบพร้อมลายเซ็นตัวย่อ ส เคณษ อยู่ตรงมุม และชุดสุดท้ายเป็นงานเสก็ตช์ของ เฟื้อ หริพิทักษ์ มีสารพัดทั้งรูปวิว รูปโบสถ์ มีอยู่ปึ๊งนึงจำไม่ได้ว่ามีกี่แผ่น เขียนด้วยปากกาบนกระดาษเก่าๆเหลืองๆ มีลายเซ็น เฟื้อ เป็นภาษาอังกฤษ น่าจะครบทุกแผ่น พอโชว์รูปเสร็จสรรพพี่เขาก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับแรงบันดาลใจของศิลปินแต่ละท่านที่รังสรรค์ภาพเขียนเหล่านี้ขึ้นมาแบบอินเนอร์มาเต็ม ข้อมูลที่พี่เขาเล่าก็ถูกต้องดีตามตำราเป๊ะ
ฟังดูพอจะเคลิ้มๆเราก็เลยถามถึงราคาภาพเหล่านี้ว่าตั้งขายอยู่เท่าไหร่ ก็ได้คำตอบมาว่าภาพทวี ราคา 250,000 บาท ภาพสุเชาว์ ราคา 150,000 บาท ส่วนภาพเฟื้อราคาภาพละ 10,000 บาท แถมยังโชว์ใจดีบอกว่าถ้าไหวแค่ไหนก็ต่อรองกันได้อีกต่างหาก ราคาที่ว่านี้ต้องถือว่าถูกแสนถูกสำหรับงานศิลปะของศิลปินอาวุโสเหล่านี้ เพราะปกติในวงการนักสะสมของบ้านเราแต่ละภาพเขาซื้อขายกันแพงกว่านี้ 10 – 20 เท่า
พอครบจบกระบวนความเราก็สบตาภรรยาและเพื่อนรุ่นพี่แบบเหมือนจะอ่านใจกันออก เราทุกคนต่างพร้อมเพรียงกันร่ำลาเจ้าของบ้านแบบปัจจุบันทันด่วนและหันหลังควั่บเดินกลับทันที ที่ต้องยอมเสียมารยาทรีบจรลีเช่นนี้ก็เพราะกลัวของจะขึ้นไปโวยวายสวดงานของพี่เขาเข้า เพราะถ้าเป็นคนที่เคยเห็นงานอาจารย์รุ่นอาวุโสเหล่านี้ผ่านตาบ่อยๆจะรู้ทันทีว่างานศิลปะที่พี่เขาเอามาโชว์นั้นเก๊ทั้งกรุ เริ่มที่สูจิบัตรที่บอกว่าศิลปินเขียนมอบให้พ่อพี่เขา อันนี้ไม่รู้ว่าใช่ของแท้หรือมั่วนิ่มเพราะไม่ได้เทียบลายมือกันชัดๆ เขาอาจจะรู้จักกันและมอบให้มาจริงๆก็ได้ หรือไม่ก็มีใครไปเขียนข้อความขึ้นมาเองบนสูจิบัตรเก่าแล้วก็ปลอมลายเซ็นศิลปิน เรื่องนี้ไม่น่ายากเพราะศิลปินหลายๆท่านมีลายเซ็นที่แสนจะซิมเปิ้ล ปลอมสุดจะง่าย ยกตัวอย่างอย่าง เฟื้อ หริพิทักษ์ บางทีท่านเซ็น ฟอฟัน ตัวเดียว ขนาดเราเองยังเซ็นลายเซ็นท่านเป็นเลย แต่ยังไงก็ตามหลักฐานเหล่านี้ก็ถือเป็นเพียงเครื่องเคียง ถึงจะพิสูจน์ได้ว่าสูจิบัตรเป็นของแท้ก็ไม่ได้หมายความว่าภาพเขียนจะต้องเป็นของแท้ตามไปด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องดูคือตัวงานศิลปะเอง เมื่อมาพินิจพิจารณาฝีมือที่ใช้วาดภาพทั้งหมดขึ้นมาแล้ว เห็นชัดแจ๋วว่าไม่ได้ใกล้เคียงกับฝีมือเหล่าศิลปินอาวุโสที่ถูกอ้างชื่อขึ้นมาเหล่านี้เลย แม้คนก๊อปปี้จะพยายามหาวัสดุให้ดูแท้ อย่างผ้าใบมีอายุที่ขึงอยู่บนเฟรมโบราณ หรือเลือกกระดาษเก่าที่สีออกเหลืองๆมาใช้เป็นวัสดุในการวาด แต่ดูๆแล้วฝีมือก็ยังไม่ได้ใกล้เคียงอยู่ดี

อันที่จริงแล้วการปลอมงานศิลปะเพื่อมาหลอกขายนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เมืองนอกเขาทำมากันตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ และเทคนิคการทำปลอมของเขานี้ก็เหนือชั้นมากประมาณว่าเหมือนยิ่งกว่าของจริง ก่อนจะทำของเก๊ขึ้นมาเหล่านักปลอมงานศิลปะขั้นเทพจะศึกษาข้อมูลของศิลปินอย่างละเอียดจนรู้ลึกรู้ดียิ่งกว่าลูกเมียของศิลปินเองเสียอีก ทั้งเทคนิครูปแบบและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ หลังจากนั้นก็ไปฝึกฝนฝีมือ และจัดหาของมาให้เหมือนกันทุกกระเบียด อย่างเช่นถ้าจะปลอมงานศิลปะรุ่นโบราณอายุนับศตวรรษที่วาดด้วยผงสีธรรมชาติ นักปลอมก็ต้องหาทางผสมผงสีแบบนั้นขึ้นมาใหม่ให้มีส่วนผสมแบบเดียวกัน และถ้าจะหาผ้าใบเก่าที่ขึงบนเฟรมไม้อายุนับร้อยปีจริงๆเอามาเป็นวัสดุ นักปลอมงานศิลปะก็จะไปหาซื้อรูปภาพโบราณของศิลปินที่ไม่ดังแต่อยู่ในยุคเดียวกันมาในราคาถูกๆ เอามาล้างรูปเดิมที่วาดเอาไว้ออกด้วยน้ำยา แค่นี้ก็ได้ผ้าใบเปล่าๆพร้อมเฟรมไม้ที่มีอายุถูกต้องไว้ใช้วาดใหม่แล้ว พอเอาทั้งสี ผ้าใบ และเฟรมไม้ ไปตรวจด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ผลลัพธ์ก็ผ่านฉลุยไม่มีพิรุธ
สำหรับสุดยอดเซียนนักปลอมงานศิลปะระดับโลก แค่เทคนิคที่ใช่และวัสดุถูกต้องยังถือว่าไม่เนียนพอ พวกเขายังแถมท้ายด้วยการปลอมเอกสารหลักฐานประกอบขึ้นมาใหม่ให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งทำใบเสร็จ สูจิบัตร หนังสือ จดหมาย พินัยกรรม หรือรีทัชรูปถ่าย เอาแบบให้เห็นภาพศิลปินยืนยิ้มแฉ่งคู่กับงานเก๊เลยก็ทำได้ พอเจอการปลอมแบบจัดเต็มอย่างนี้เข้าอย่าว่าแต่นักสะสมเลย ขนาดสถาบันการประมูล หรือ พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆที่มีชื่อเสียงก็มีโอกาสโดนต้มไม่แพ้กัน ในเมืองนอกเขาเลยมีทั้งบริษัทและสถาบันเยอะแยะให้บริการตรวจสอบจับผิดของอะไรพรรค์นี้ แต่ในขณะเดียวกันนักปลอมงานศิลปะก็ไม่หยุดพัฒนาจนมีเทคนิคลึกล้ำขึ้นไปตลอด ปัญหางานศิลปะเก๊ก็เลยยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
สำหรับในเมืองไทยงานศิลปะสมัยใหม่ของบ้านเราพึ่งจะมีราคาได้ไม่นาน นักปลอมงานศิลปะสัญชาติไทยเลยพึ่งจะเริ่มมี ถึงจะอยู่ในขั้นฝึกหัดแต่กลอุบายของพวกเขาก็ไม่เบา กลเม็ดที่เคยเจอะเจอมาแล้วเช่น เอารูปปลอมไปร่วมแสดงตามงานโชว์ปนๆกับงานศิลปะที่เป็นของจริง พอได้อยู่ในงาน ได้มีรูปถ่ายอยู่ในสูจิบัตร งานปลอมก็ดูเป็นของจริงไปโดยปริยาย บางทีก็เอารูปปลอมไปฝากไว้ตามบ้านหลังโตๆ บ้านคนที่มีหน้ามีตาในสังคมโดยเจ้าของบ้านก็ไม่ได้รู้เห็นด้วย เห็นรู้จักกันเอามาฝากไว้ก็ไม่ได้คิดอะไร พอจะขายก็ไปยกออกมาจากบ้านให้คนซื้อเห็นเขาก็คิดว่าเป็นสมบัติของบ้านนั้นจริงๆทำให้ดูน่าเชื่อถือ
เคยเจอถึงขนาดที่ว่าคนที่พยายามจะขายงานศิลปะเก๊ไปเช่าบ้านผู้ดีเก่าแถวสุขุมวิท จัดเฟอร์นิเจอร์เก่า จัดรูปภาพปลอมไปแขวนไว้เต็มบ้าน บอกว่าจะขายบ้านและสมบัติบรรพบุรุษยกบ้านแบบถูกๆเพราะจะย้ายไปอยู่คอนโดบ้าง ไปอยู่ต่างประเทศบ้าง พอคนซื้อเห็นงานศิลปะชั้นครูขายเหมาๆพร้อมเฟอร์นิเจอร์ บวกลบคูณหารดู จากรูปภาพมูลค่ารูปละหลายล้านเหลือรูปละไม่กี่แสนบาท ก็ดีใจนึกว่าได้ของฟลุ๊คแต่หารู้ไม่ต้องกลับกลายเป็นเหยื่อโดยปริยาย
งานศิลปะปลอมในบ้านเราส่วนใหญ่ถ้าค่อยๆดูดีๆของเก๊ของจริงก็พอจะแยกออก งานปลอมแบบที่พยายามจะวาดให้เหมือนของแท้ บ้างก็วาดได้ฝีมือใกล้เคียง บ้างก็วาดได้ฝีมือห่างไกลอย่างกับหน้ามือกับหลังเท้า เมื่อเป็นเช่นนี้นักปลอมงานศิลปะหัวใสบางคนพอรู้ตัวว่าวาดยังไงก็ไม่เหมือน ก็เลยตั้งใจวาดให้ไม่เหมือนไปซะเลย แล้วบอกว่าเป็นงานสมัยเรียนของศิลปิน ยังค้นหาตัวตนอยู่สไตล์เลยยังไม่มา อะไรเทือกนี้ก็มี บางครั้งนักปลอมงานศิลปะก็แสนจะขี้เกียจแทนที่จะวาดเอง ก็ไปหาซื้อภาพวาดเก่าๆของศิลปินที่ไม่ดังเลือกแบบที่มีสไตล์คล้ายๆกัน เอามาลบลายเซ็นเดิมออกแล้วเปลี่ยนเป็นลายเซ็นของศิลปินที่มีชื่อเสียงที่ขายง่าย หรือบางภาพก็วาดโดยใครก็ไม่รู้และไม่ได้เซ็น อย่างนี้ก็ง่ายหน่อยไม่ต้องลบอะไรให้ยุ่งยากแค่เล็งๆดูว่าคล้ายศิลปินดังคนไหนแล้วเติมลายเซ็นเข้าไปได้เลย ถ้าหากหาภาพเขียนเก่าไม่ได้แต่ยังขี้เกียจจะวาดอยู่ดี นักปลอมงานศิลปะบางคนก็ใช้วิธีสแกนรูปจริงจากหนังสือแล้วใช้เครื่องพิมพ์ลงบนผ้าใบให้รู้แล้วรู้รอด เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวล้ำจะพิมพ์ให้มีความหนาของสีเหมือนคนวาดจริงก็ทำได้ พอพิมพ์เสร็จออกมาก็เอาสีมาแต้มหน่อยให้ดูเลอะนิดๆจะยิ่งดูเหมือนจริงเข้าไปใหญ่ คราวนี้พอเอาไปขายเปิดหนังสือโชว์ว่าเป็นรูปดังที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือคนซื้อเขาก็เชื่อเพราะฝีแปรงเหมือนกันทุกกระเบียด จะไม่ให้เหมือนได้ยังไงก็พิมพ์มาจากรูปจริง คนซื้อเอามาแขวนบ้านเพลินๆจนความจะแตกก็ตอนที่เจอเจ้าของภาพตัวจริงมาโชว์งงว่าภาพเดียวกันมีเหมือนกันเป๊ะหลายชิ้นได้ยังไง

เทคนิคการดูว่างานศิลปะที่จะซื้อเป็นของจริงหรือเก๊ วิธีที่ง่ายที่สุดคือถามศิลปินที่วาดหรือซื้องานจากมือศิลปินโดยตรงซะเลย แต่วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะกับศิลปินที่ยังมีตัวเป็นๆให้ไปถามได้ นักปลอมงานศิลปะส่วนใหญ่ก็เลยชอบจะปลอมงานศิลปะของศิลปินดังๆที่ตายไปแล้วมากกว่า ดีตรงที่ขายได้ราคาและไม่ต้องกลัวจะถูกศิลปินเอาเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าศิลปินไม่อยู่ให้ถามแล้วเราควรจะระวังเป็นพิเศษ เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลก็ให้สงสัยไวก่อน เวลาคนขายโม้ว่าอย่างไรก็ให้เช็คดูตามนั้นเลย และคบหาสมาคมกับผู้เชี่ยวชาญหรือนักสะสมที่มีประสบการณ์มากๆวานให้เขาช่วยดูและให้ความเห็น จะซื้อของจากใครหรือแกลลอรี่ไหนก็ต้องเช็คประวัติให้ดีให้รู้หัวนอนปลายเท้าเผื่อวันหน้ามีปัญหาจะได้ตามเอาตังค์คืนได้ ถ้าอยากจะสะสมงานศิลปะไม่ใช่เรื่องยากและน่ากลัว พยายามดูงานบ่อยๆ อ่านหนังสือเยอะๆ อย่ารีบ อย่าโลภ แค่นี้ก็ปลอดภัยไปกว่าครึ่ง *กลับมาที่เย็นวันนั้น ณ ชุมชนหลังภูเขาทอง เสร็จจากที่นัดกันไปดูงานศิลปะกับภรรยาและเพื่อนรุ่นพี่ แทนที่จะได้เห็นศิลปะระดับบรมครูให้ชื่นใจ กลับต้องพบกับภาพเขียนเก๊มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะไทย เป็นอย่างนี้เลยเสียทั้งอารมณ์เสียทั้งเวลา พอเดินกลับออกมาเลยต้องระบายความอัดอั้นตันใจไปกับร้านผัดไทยเจ้าดังที่ตั้งอยู่ตรงนั้น สั่งแบบพิเศษคนละ 2 จาน ทำให้รู้ลึกถึงสัจธรรมที่ว่า “ถูกและดีไม่มีในโลก” เพราะผัดไทยพิเศษที่จ่ายแพงกว่านี่สิเขาให้กุ้งกุลาตัวใหญ่เนื้อแน่นขึ้นจริงๆ